วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ฟินิกซ์เตรียมเพิ่มทุน เติมอีก200ล้านบาท แก้ฐานะเงินกองทุน

ฟินิกซ์ประกันภัยวางแผนเพิ่มทุนอีก 200 ล้านบาท เป็น 600 ล้านบาท ภายในเดือนต.ค.นี้ พร้อมปรับเพิ่มสัดส่วนงานนอนมอเตอร์จาก 10% เป็น 20% และปรับลดงานมอเตอร์จาก 90% เป็น 80% หวังเงินกองทุนเป็นบวก ลุยตั้งบริษัท C.O.P. ดูแลระบบสินไหมครบวงจร ลดงานเซอร์เวย์ลงกว่า 60%

ฟินิกซ์ประกันภัยทุ่มงบจัดตั้งบริษัทลูกคุมสินไหมครบวงจร

นายธีระศักดิ์ แสนวรางกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ฟินิกซ์ประกันภัย (ประเทศไทย ) จำกัด เปิดเผยว่า เพื่อให้ระบบการทำงาน การจัดการ รวมถึงการให้บริการลูกค้า มีศักยภาพ จึงลงเงินทุน 2 ล้านบาท จัดตั้งบริษัท C.O.P. Service Center จำกัด ขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลสินไหมแบบครบวงจร โดยโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของบริษัททั้งหมดที่เคยดูแลงานด้านสินไหมทั้งรถยนต์และที่ไม่ใช่รถยนต์ เข้ามาประจำเป็นพนักงานที่บริษัท พร้อมให้อำนาจการพิจารณากับฝ่ายประเมินราคาค่าซ่อมรถยนต์ควบคุมราคาค่าซ่อมในการแจ้งเคลมแต่ละครั้งได้ไม่เกินวงเงิน 50,000 บาท และสามารถให้คำตอบลูกค้าได้ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ส่งซ่อมเข้าอู่ในเครือ

จากสัมพันธ์ฯ”แตกรัง พลิกฟื้นเป็น “ฟินิกซ์ ประกันภัย”

เปิดตัว โลโก้ "นกอมตะ"... "ฟินิกซ์ ประกันภัย"... ชื่อใหม่หลังเทกโอเวอร์ "ธนวัฒน์ประกันภัย" และฟื้นตัวราวปาฏิหาริย์ หลังรับอานิสงส์พอร์ตส่วนหนึ่งหลั่งไหลมาจาก ฐานลูกค้าเก่า "สัมพันธ์ประกันภัย" ที่กลายเป็นผึ้งแตกรัง นายทุนใหม่ "พ่อค้าสินค้าเกษตร" วางจุดคุ้มทุน 3 ปี ควบคู่ไปกับเทน้ำหนักให้กับกำไรจากการลงทุน ...

ธีระศักดิ์ แสนวรางกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฟินิกซ์ประกันภัย (ประเทศไทย) และพันธมิตรในกลุ่มพ่อค้าสินค้าเกษตรจากบุรีรัมย์ ใช้เงินก้อนโตราว 250 ล้านบาท ไปกับการซื้อหุ้นของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ธนวัฒน์ประกันภัย จนมีสัดส่วนมากสุดคือ 65%

ที่สำคัญคือ ภายในกลุ่มนี้ มีกลุ่มของ "วัฒนชัย ขาวดี" รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโสถือหุ้นบางส่วนอยู่ ซึ่งอดีตเคยกำหุ้นส่วนใหญ่ในพาณิชย์การประกันภัยและสัมพันธ์ประกันภัยมาก่อน

จึงเป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้ ที่พอร์ตรถยนต์ส่วนใหญ่จะเป็น แม่พิมพ์เดียวกับของสัมพันธ์ประกันภัย และเป็นพอร์ตที่โยกมาจากสัมพันธ์ฯ หลังจากธุรกิจต้องตกเป็นจำเลยสังคม จากการบริหารงานล้มเหลว

ฟินิกซ์ฯ เริ่มต้นธุรกิจประกันภัยจากรากฐานธุรกิจทางการเกษตร ประเภท บริษัทให้เช่าโกดัง โรงงานเก็บมันเส้น โรงงานปุ๋ย ไซโล โรงสีข้าว ในลักษณะเทรดดิ้ง คอมพานี จำหน่ายในประเทศและส่งออก

และที่ขาดไม่ได้ก็คือ พอร์ตประกันภัยรถยนต์ ประเภท รถแท็กซี่ รถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชน ที่ว่ากันว่า ทำกำไรได้ไม่น้อย

โครงสร้างใหม่ ถูกเปลี่ยนแปลงไป ภายหลังเปลี่ยนชื่อจากธนวัฒน์ฯ เพื่อไม่ให้ไปพ้องเสียงกับ ธนสินประกันภัย ที่ถูกทางการจับตาอย่างใกล้ชิด หลังถูกระงับการขายกรมธรรม์ชั่วคราว จนกว่าจะหาผู้ร่วมทุนรายใหม่เข้ามาต่อลมหายใจได้สำเร็จ

ฟินิกซ์ฯ มีกลุ่มธีระศักดิ์ และพันธมิตรถือหุ้นในสัดส่วน 65% อีก 15% เป็นกลุ่มพรประภา ไทยพาณิชย์ลีสซิ่งถือ 10% และธนาคารไทยธนาคารถืออีก 10% ก่อนที่ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่จะเตรียมเงินก้อน 50 ล้านบาท ซื้อหุ้นทั้งหมดจากตระกูล พรประภาในอนาคต

กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ก็คือ ธีระศักดิ์ และพันธมิตร ที่กำลังพลิกลำหนีจากธุรกิจโรงงานปุ๋ยที่ทำกำไรน้อย กระโดดเข้ามาสัมผัสกับธุรกิจประกันภัย โดยมีทีมงานส่วนใหญ่ข้ามมาจาก อุตสาหกรรมประกันภัย ทำหน้าที่เป็นทั้งที่ปรึกษาและทีมงานบุกเบิกตลาด

ธีระศักดิ์ บอกว่า ภายใน 3 ปีน่าจะถึงจุดคุ้มทุน เพราะข้อดีหลังเทกโอเวอร์ กลุ่มเดิมจากธนวัฒน์ฯ ก็คือ มีหนี้สินเก่าเพียง 50 ล้านบาท และบริษัทก็ตัดขายให้กับธุรกิจบริหารหนี้เสียไปทั้งหมดคิดเป็นเงิน 20 ล้านบาท

" เรามีนโยบายไม่ดัมป์ราคาเบี้ย เบี้ยอยู่ระดับกลาง ถึงแพงกว่าบางบริษัทด้วยซ้ำ และคงไม่มีทางขายเบี้ยต่ำกว่าทุนแน่นอน ถ้าทำคงเกิดหายนะร้ายแรง หรือไม่ก็ตายไปเลย"

ธีระศักดิ์ บอกว่า เบี้ยจะถูกหรือแพงคงไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือ ต้องมีการบริหารงานและตรวจสอบช่องทางไหลของเงิน ร่องรอยทุจริต อย่างถูกต้อง รัดกุม

นอกจากนั้น ยังกำหนดนโยบายผลิตเบี้ยในปีนี้ให้ถึง 500 ล้านบาท คิดเป็นรถยนต์ประมาณ 8,000 คัน โดยสัดส่วนประกันภัยรถยนต์ที่มีอยู่ 80% ก่อนจะลดลงมาเหลือ 60% ในอนาคต

" ทำธุรกิจประกันภัยรถยนต์อาจไม่ทำกำไรมาก อย่างไรก็ตาม สัดส่วนประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจที่มีเพียง 27% ก็ถือว่า ตลาดค่อนข้างกว้างมากแต่ถึงอย่างนั้นการลงทุนก็สามารถทำให้บริษัทมีกำไรได้"

ธีระศักดิ์ บอกว่า การลงทุน คงไม่โฟกัสไปที่การลงทุนในหุ้น แต่อาจจะลงทุนผ่านธุรกิจ เทรดดิ้ง คอมพานีแบบซื้อมาขายไป เพื่อทำกำไรที่ค่อนข้างถนัดและเชี่ยวชาญมากกว่า

ถึงแม้จะไม่มีโลโก้ หรือ สาขาของฟินิกซ์ฯ ปรากฎบนแผนที่ประเทศไทยในช่วงแรกที่มีการเปิดตัว ซึ่งอาจถือเป็นจุดอ่อน ทำให้การเปิดตัวครั้งล่าสุด บริษัทต้องลงนามในบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือซ่อมรถกับสมาคมอู่กลางประกันภัย เพื่อรองรับกับกลุ่มลูกค้าชุดแรก โดยเฉพาะที่โอนมาจาก "สัมพันธ์ประกันภัย"

ธีระศักดิ์ บอกว่า บทเรียนจากวิกฤตสัมพันธ์ทำให้บริษัทต้องจัดการกับขั้นตอน การเก็บเงินจากตัวแทนใหม่ และจัดการระบบขายกรมธรรม์ผ่าน ฟินิกซ์ การ์ด

ระบบนี้จะทำให้ ลูกค้าสามารถ ซื้อ ฟินิกส์ การ์ด ได้ที่โมเดิร์น เทรด และแจ้งคำขอเอาประกันภัยได้ โดยแจ้งข้อมูลเลขที่กรมธรรม์ พร้อมรหัส ผ่านศูนย์คอลเซ็นเตอร์ หรือเว็บไซด์

รวมถึงการเก็บเงินจากตัวแทน ต้องส่งเบี้ยเข้าบริษัทภายใน 60+15 วัน จากเดิม 90 วัน หรือ ถ้า 45 วันเก็บเบี้ยไม่ได้ก็อาจยกเลิกตัวแทนรายนั้น หรือไม่ส่งเบี้ยภายใน 40 วันอาจไม่รับเลย นอกจากนั้นถ้าไม่ส่งเงินก็จะไม่ได้กรมธรรม์

ขณะเดียวกัน ยังมีทีมงานสำรวจภัย ตรวจสอบอุบัติเหตุ ชื่อ มิสเตอร์ ฟีนิกซ์ ที่มีการ์ดรูด ที่บันทึกประวัติลูกค้าอย่างละเอียด ซึ่งจะทำให้ทำได้รวดเร็วขึ้น พร้อมเตรียมจัดทำระบบคอล เซ็นเตอร์ รับแจ้งเคลม ที่มองว่าเป็นหัวใจหลัก โดยจะเพิ่มจาก 100 เป็น 200 คน

ถ้ารักษาระดับการทำธุรกิจได้ตามเป้าหมาย ธีระศักดิ์บอกว่า คงไม่มีเรื่องให้ต้องกังวล ทั้งหมดนี้คงจะอธิบายภาพนกฟินิกซ์ ไม่มีวันตาย ได้อย่างดี หากธุรกิจไม่เดินออกนอกเส้นทาง...   

วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ฟีนิกซ์ประกันภัย

เว็บนี้จะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับบริษัทประกันภัยรถยนต์ โดยเฉพาะข้อมูลของบริษัท ฟีนิกซ์ประกันภัย